แนะนำมาตรฐานสามมิติ

digital-clock-1541388

โดยทั่วไป มาตรฐานที่มีการกำหนดขึ้นมานั้น เกิดขึ้นได้ในหลายระดับ หลายสาขาและหลายเรื่องที่กล่าวว่ามีหลายระดับนั้น แบ่งออกเป็น 6 ระดับ กล่าวคือ หากเป็นมาตรฐานระดับบุคคล (Individual Standards) หมายถึงมาตรฐานที่ผู้ใช้แต่ละคนหรือแต่ละหน่วยงานกำหนดขึ้นมาเอง เพื่อใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น ข้อกำหนดในการออกแบบบ้านแต่ละหลัง การสร้างโรงงาน เป็นต้น

หากเป็นด้านอุตสาหกรรม บริษัทแต่ละบริษัทจะมีแนวทางผลิตหรือมาตรฐานเป็นของตนเอง เรียกว่า มาตรฐานระดับ บริษัท (Company Standards) เช่น มาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน มาตรฐานของบริษัทสายการบิน เป็นต้น แต่หากมีหลายบริษัทมารวมกลุ่มกันเป็นสมาคม โดยผู้ทำผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันมารวมกลุ่มกันหรือผู้ทำผลิตภัณฑ์ต่างชนิด มารวมตัวกัน ก็จะมีมาตรฐานใช้เป็นของสมาคม เรียกว่า มาตรฐานระดับสมาคม (Association Standards) เช่น มาตรฐาน ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ มาตรฐานของสมาคมมาตรฐานและคุณภาพแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ หากมีผู้ผลิตกับผู้บริโภคต่างกลุ่มต่างรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ก็จะเกิดการต่อรองและนำไปสู่การยอมรับใน ระดับประเทศ เรียกว่า มาตรฐานระดับประเทศ (National standards) เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็น มาตรฐานของประเทศไทย มาตรฐานของ American National Standards Institute: ANSI, American Society for Testing and Materials: ASTM และ National Fire Protection: NFPA ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น และเหนือกว่านี้ก็จะเป็นมาตรฐานที่เกิดจากการร่วมกันกำหนดขึ้นของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เรียกว่ามาตรฐานระดับภูมิภาค (Regional Standards) เช่น มาตรฐานของคณะกรรมการยุโรปด้านการมาตรฐาน (European Committee for Standardization: CEN) เป็นต้น และสุดท้าย มาตรฐานที่มาจากการร่วมกันกำหนดขึ้นของประเทศต่างๆ เรียกว่า มาตรฐานระดับระหว่างประเทศ (International Standards) ซึ่งหมายถึงมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) มาตรฐานทั้ง 6 ระดับดังกล่าวนับว่าเป็นมิติแรกของมาตรฐาน

เรื่องของมาตรฐานยังมีรายละเอียดปลีกย่อย ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐานที่กำหนดขึ้นในแต่ละระดับ ยังสามารถแบ่งออกเป็นสาขา (subject) ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านอาชีพในสาขาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม การก่อสร้าง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นมิติที่สองของมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังแบ่งออกเป็นเรื่อง (aspect) ซึ่งเป็นประเภทของเนื้อหาหรือหัวข้อหรือกลุ่มของหัวข้อที่ประกอบขึ้นเป็นมาตรฐาน เช่น คำนิยาม ข้อกำหนดด้านคุณภาพ ส่วนประกอบ สมรรถนะ วิธีชักตัวอย่าง วิธีตรวจสอบ วิธีวิเคราะห์ วิธีทดสอบ วิธีปฏิบัติ เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นมิติที่สามของการมาตรฐาน เรื่องของมาตรฐานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันและมีบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้น มาตรฐานจึงต้องอาศัยองค์กรที่เป็นมืออาชีพเข้ามาดำเนินงานเพื่อให้สามารถก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ที่มา:
–    http://www.tisi.go.th
–    http://www.masciinnoversity.com