ENG-Ico ENG

ความเป็นมาการจัดตั้งสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ

รัฐบาลได้มีนโยบายให้ปรับบทบาทของรัฐ จากที่เป็นผู้ดำเนินการมาเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ กำกับดูแล รักษากติกา วางแผนและประสานงาน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการแทนในกิจกรรมที่รัฐไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเอง และตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 เห็นชอบแผนแม่บทอุตสาหกรรมฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2540 – 2544) ซึ่งกำหนดแนวทางและมาตรการสนับสนุนให้กระทรวงอุตสาหกรรมกระจายงานรับรองมาตรฐานไอเอสโอให้สถาบันอิสระหรือเอกชน จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO 9000 และ ISO 14001 โดยให้ปรับเปลี่ยนบทบาทของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้สอดคล้องกับลักษณะสากล คือ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองระบบงาน (Accreditation Agency) และเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเสนอขออนุมัติจัดตั้งสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ตามมติ ครม. ข้างต้น และ ครม.เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2540 อนุมัติให้จัดตั้งสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจด้านการรับรองตามมาตรฐาน ISO 9000 และ ISO 14000 และมาตรฐานอื่นๆ ที่จะมีในอนาคต จาก สมอ.  เพื่อให้ สมอ.สามารถปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Agency) และควบคุมดูแลมาตรฐานการทำงานตามรูปแบบของระบบมาตรฐานที่สากลยอมรับ  และเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น และพัฒนาบุคลากรให้มีมาตรฐานและเพียงพอที่จะรองรับงานในระดับสากลได้

กระทรวงอุตสาหกรรม มีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 300/2541 เรื่อง การจัดตั้งสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 เป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ โดยมีวัตถุประสงค์  และหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

วัตถุประสงค์

  1. ดำเนินงานด้านการให้บริการรับรองตามมาตรฐานไอเอสโอ และมาตรฐานระบบอื่นๆ
  2. เสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรม
  3. เพิ่มขีดความสามารถด้านการรับรองของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ
  4. พัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานและเพียงพอที่จะรองรับงานในระดับสากลได้

หน้าที่ความรับผิดชอบ

  1. ให้การรับรองระบบบริหารคุณภาพ ตามมาตรฐาน มอก. ISO 9000 การรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน มอก. ISO 14000
    การรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตามมาตรฐาน มอก. 18000  และมาตรฐานระบบอื่นๆ ที่จะมีในอนาคต
    ตลอดจนการตรวจติดตามผล เพื่อรักษาคุณภาพของการรับรอง
  2. พัฒนาบุคลากรด้านการตรวจประเมินให้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานสากล
  3. เข้าร่วมในกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรด้าน ISO 9000 ISO 14000  มอก. 18000 และระบบอื่นๆ
  4. เข้าร่วมในกิจกรรมการพัฒนาและปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการรับรองบุคลากร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. เข้าร่วมในกิจกรรมด้านการรับรอง ISO 9000 ISO 14000 และระบบอื่นๆ ขององค์กรระดับสากลและภูมิภาค เช่น ISO  APEC และ ASEAN
  6. ประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทั้งเชิงเทคนิควิชาการ และเชิงนโยบาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับรอง ISO 9000 ISO 14000  มอก. 18000 และระบบอื่นๆ
  7. ปฏิบัติการอื่นใดที่เกี่ยวกับมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO 9000 มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก. 18000 และมาตรฐานระบบอื่นๆ หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือคณะรัฐมนตรี

VDO แนะนำสถาบัน


วิสัยทัศน์ (Vision)

เป็นผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย สู่ความเป็นเลิศด้านความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก


พันธกิจ (Mission)

ช่วยสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการเติบโต มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและองค์กร อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้วยการให้บริการด้านข้อมูลและองค์ความรู้ การฝึกอบรม การพัฒนามาตรฐาน และการตรวจสอบรับรอง


วัฒนธรรมองค์กร

สรอ. มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กร S5 Culture ที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของสถาบันฯ ได้แก่

  1. SMART
    • Self Learning
    • Mastery
    • Agility
    • Resourcefulness
    • Trustworthiness
  2. Strategy Execution
  3. Service Excellence
  4. Sustainable Innovation
  5. Sharing

แนวทางในการดำเนินธุรกิจ (MASCI’s Business Approach)

มุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อความเป็นเลิศด้านความสามารถในการดำเนินการอย่าง ยั่งยืน (Sustainability Excellence: SE) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามหลัก Triple Bottom Line ใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

sustainability-excellence


ลิ้งค์เกี่ยวข้อง
www.tisi.go.th