“โคเวิร์คกิ้งสเปซ” ออฟฟิศในฝันที่ทำให้ทุกบริษัทเติบโตไปด้วยกัน

Coworking-Space,-a-Perfect-Place-for-Startups

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2562 วารสาร Entrepreneur ได้นำเสนอเรื่องราวของ “โคเวิร์คกิ้งสเปซ” ว่าเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบมากสำหรับการสร้างชุมชนของการทำงานให้มีความแข็งแกร่ง โดยกล่าวย้อนไปในอดีตของมนุษยชาติว่ามนุษย์เรามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เช่น ในการล่าสัตว์ การทำเกษตรกรรม ซึ่งทำให้กิจกรรมสำเร็จลุล่วงได้ง่ายขึ้น และหมายความว่าทำให้เป้าหมายร่วมกันบรรลุผลในการมีชีวิตอยู่รอดต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวในแง่ของความเป็นชุมชนในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่รวมกลุ่มคนเข้าไว้ด้วยกันแล้ว เช่น วัด โบสถ์ หรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจซึ่งมีผู้คนมารวมตัวกัน ก็จะป็นสถานที่ที่รวมเอาความสนใจ คุณค่า การผูกพันทางสังคม และอาชีพต่างๆ เข้าด้วยกัน  และเป็นปัจจัยที่ประกอบขึ้นเป็นชุมชนและการมีอยู่ของชุมชนร่วมกัน

เมื่อปี 2529 (ค.ศ.1986) แม็คมิลแลนและเควิส นักจิตวิทยาได้กล่าวถึงการรวมตัวกันทางสังคมว่าเป็นความรู้สึกที่สมาชิกมีความเป็นเจ้าของและรู้สึกว่าสมาชิกแต่ละคนมีความสำคัญซึ่งกันและกันและมีความสำคัญต่อกลุ่มของตนเองซึ่งมีความศรัทธาร่วมกันซึ่งความต้องการของสมาชิกในกลุ่มจะได้รับการตอบสนองด้วยการมีพันธสัญญาร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมเปลี่ยนไป การปฏิวัติด้านเศรษฐกิจสังคมก็ได้ทำให้เกิดการสร้างความรู้สึกของความเป็นชุมชนขึ้นอีกครั้งหนึ่งเพื่อเน้นย้ำถึงการทำสิ่งที่ดีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ดิ้นรน ความเครียด ความสับสนของชีวิตยุคใหม่ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ชุมชนเป็นแหล่งสนับสนุนแต่ละคนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง สังคมยุคใหม่ที่มีการทำงานร่วมกันในโคเวิร์คกิ้งสเปซ จึงกลายเป็นจุดแรกและเป็นจุดที่สำคัญสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์เชิงจิตวิทยาสังคม

ความสามารถในการทำงานและแบ่งปันประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีความชอบเหมือนกันและเข้ากันได้ จะช่วยให้เกิดรูปแบบที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อผนวกกับความจริงที่ว่า 65% ของคนทำงานทั่วโลกเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคมิลเลนเนียล มีวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมธุรกิจส่วนใหญ่จึงชื่นชอบการใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซเพื่อทำงานร่วมกันเป็นชุมชนหรือโครงการที่ใช้อาคารสถานที่ร่วมกันเพื่อให้ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วมกัน

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซร่วมกันมากกว่า 19,000 แห่งและมีสมาชิกมากกว่า 1.74 ล้านคน อุตสาหกรรมโคเวิร์คกิ้งสเปซกำลังเป็นคลื่นลูกใหม่ที่สนับสนุนประสบการณ์ที่ดีของสตาร์ทอัพและฟรีแลนซ์ต่างๆ รวมทั้งเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ (กรุงเทพมหานครก็มีโคเวิร์คกิ้งสเปซอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน เช่น HUBBA, Glowfish, Spaces, Regus, Too fast to sleep, Naplab, NestDots เป็นต้น)

คำว่า 3Cs ได้แก่ Collaboration, Commerce และ Community เป็นหลักการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานร่วมกันในโคเวิร์คกิ้งสเปซซึ่งมีแนวทางให้กับวัฒนธรรมการทำงานสมัยใหม่

Collaboration คือ ความร่วมมือ ในแง่ของการรับรู้ว่าเป็นหน้าที่ของความร่วมมือ ซึ่งคำว่า Coworking คือ การทำงานร่วมกันเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกับคำว่า Collaboration แต่มีระดับของการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบริษัทและตัวบุคคลสูงกว่าสำหรับสถานที่ที่มีการแชร์การใช้งานร่วมกัน

ดังปรากฎว่ามีรายงานฉบับหนึ่ง พบว่า 84% ของคนที่ทำงานในโคเวิร์คกิ้งสเปซ มีส่วนร่วมมากกว่าและได้รับการกระตุ้นมากกว่าการทำงานในสำนักงานแบบดั้งเดิมที่ทำกันมานาน อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน บริษัทยังพบว่ามีความต้องการขององค์กรร่วมกันและอาจมีความร่วมมือในการสนับสนุนธุรกิจมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่งมากกว่าแค่การใช้สถานที่ทำงานร่วมกันด้วย

Commerce คือการค้า หมายถึงการมีอยู่ของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อกันเป็นอย่างมาก นับเป็นปัจจัยต่อความสำเร็จของโคเวิร์คกิ้งสเปซซึ่งเป็นประตูที่เปิดสู่โลกของความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยพันธมิตรทางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนแนวคิดผ่านนวัตกรรมและการทำธุรกิจแบบ B2B มีธุรกิจมากกว่า 83% ยอมรับว่ามองเห็นประโยชน์ทางธุรกิจที่จับต้องได้หลังจากย้ายเข้าไปใช้เวิร์คกิ้งสเปซร่วมกับบริษัทอื่น

Community คือชุมชน หมายถึงการเชื่อมโยงธุรกิจและบุคคลเข้าด้วยกันผ่านลำดับชั้นที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านภูมิหลังประชากรศาสตร์ อุตสาหกรรม และทักษะการทำงานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างชุมชนการทำงานร่วมกันที่มีความเข้มแข็งเพื่อการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืนด้วยการจัดเครือข่ายที่เหมาะสมและงานทางสังคมเพื่อสร้างความผูกพันระหว่างเพื่อนร่วมงานและบุคคลที่มีความแตกต่างกันทั้งในระดับธุรกิจและระดับตัวบุคคล เช่นในช่วงของการพูดคุย บ่อยครั้ง งานเลี้ยงต่างๆและประสบการณ์ของการดูแลหน้าที่การงานทำให้โคเวิร์คกิ้งสเปซมีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมนอกเหนือไปจากเป้าหมายทางธุรกิจ

แนวโน้มของการสร้างชุมชนและการส่งเสริมความร่วมมือจากการใช้เวิร์คกิ้งสเปซนับเป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้นทุกที และอีกไม่นาน การพัฒนาด้านเอไอ การจดจำเสียงและภาพ รวมทั้งไอโอทีก็จะเข้ามาแทนที่ความต้องการของคอมพิวเตอร์ อันที่จริงแล้ว เทคโนโลยีไอทีสวมใส่ (wearable technology) จะนำไปสู่การมีสถานที่ทำงานในฝันที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงานอยู่กับที่อีกต่อไป แต่สามารถจะเดินทางไปไหนมาไหนพร้อมกับการทำงานในทุกๆ ที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้มีบรรยากาศการทำงานที่ขึ้นอยู่กับกิจกรรม เช่น มีการประชุมที่มีปฏิสัมพันธ์กันได้ไม่ว่าทุกคนจะอยู่ที่ใด และสามารถสร้างความรู้สึกของความเป็นเจ้าของ การมีแรงบันดาลใจ และการกระตุ้นให้เกิดการทำงานได้ตลอดเวลา โคเวิร์คกิ้งสเปซจึงเป็นออฟฟิศในฝันของทุกคนที่มีส่วนสำคัญในการทำให้บริษัทหรือองค์กรมีการเติบโตก้าวหน้าในบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานในยุคใหม่และในอนาคต

ที่มา:

  1.  https://www.entrepreneur.com/article/329642
  2. https://techsauce.co/tech-and-biz/thailand-co-working-space-wars/