All General QuestionsTraining & CoachingCertificationProduct Inspection

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการตรวจ (Inspection) ?

  • ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าไทย เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยสำหรับการแข่งขันในระดับสากล
  • เพิ่มความพึงพอใจและความเชื่อมั่นสูงสุดต่อลูกค้าของหน่วยงาน
  • ลดค่าใช้จ่าย

บทบาทของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ?

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) สถาบันอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตามมาตรฐาน มอก. อย่างเป็นทางการ

ประโยชน์ของการจัดทำระบบการจัดการ ?

ตัวอย่างเช่น

  • การยอมรับจากลูกค้าและคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรฐานภายในองค์กร
  • เป็นภาพลักษณ์ขององค์กร
  • มุ่งเน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
  • สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
  • ฯลฯ

สิทธิประโยชน์จากการได้รับการรับรองจากสถาบัน ?

  • ลูกค้าที่ได้รับการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ มอก.-ISO 9001 จาก สรอ.จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการซื้อขายกับหน่วยราชการตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535
  • ลูกค้าที่ได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ภายใต้ขอบข่ายการรับรองระบบงาน และระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก. 18001 จาก สรอ. จะได้รับสิทธิในการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. 2547 ตามประกาศของกฎกระทรวง
  • ลูกค้าที่ได้รับการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ มอก.-ISO 9001 จาก สรอ. ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งการได้รับการรับรองดังกล่าว จะทำให้สอดคล้องกับนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน ตามมติของคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน เรื่องการได้รับรองระบบบริหารงานคุณภาพ

ไปอบรมกับทางสถาบันฯ มาคะ แต่มีข้อสงสัยว่าทำไมทางบริษัท ฯ จ่ายค่าฝึกอบรมไปเต็มจำนวน ทำไมถึงไม่หักภาษี 3% ไว้คะ ?

เนื่องจากว่าสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโออยู่ภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เป็นองค์การหรือสาธารณกุศล ลำดับที่ 333 จึงได้รับการยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%

ISO 26000 สัมพันธ์กับ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) หรือไม่ ?

การพัฒนาอย่างยั่งยืนประกอบไปด้วยความสัมพันธ์อย่างสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ((Economic) สังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งความสัมพันธ์อย่างสมดุลนี้ กลไกของการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ตามแนวทางมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งประกอบไปด้วย การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่เป็นธรรม ประเด็นผู้บริโภค ตลอดจนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน นั้นเป็นรากฐานและเป็นกลไกที่สำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กร ไปพร้อมๆ กับความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ และต่อโลกของเราเพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

การรับรอง ISO 26000 ทำอย่างไร และ MASCI ให้การรับรองได้หรือไม่ ?

มาตรฐาน ISO 26000 ไม่มีวัตถุประสงค์ หรือไม่มีความเหมาะสมเพื่อนำไปใช้สำหรับการรับรอง (Certification) แต่อย่างไรก็ตามการยอมรับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในระดับสากลจะให้ ความสำคัญกับการจัดทำรายงาน (Report) ซึ่งจะระบุตัวชี้วัดในด้านต่างอย่างครอบคลุมประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อ สังคม โดยแนวทางการทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้รับการยอมรับมากคือ GRI (Global Reporting Initiative) หรือ AA 1000 เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดให้มีรางวัล SET Awards ให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ที่โดดเด่น รวมถึง กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้พัฒนามาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ต่อสังคม (CSR-DIW) ขึ้น โดยมีการส่งเสริมให้ปฏิบัติ และทวนสอบ และมอบเกียรติบัตรให้โดยมีผู้ดำเนินการคือสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551-2552 แล้วเช่นกัน

ต้องการทำ ISO 26000 จะเริ่มต้นอย่างไร ?

มาตรฐาน ISO 26000 Social Responsibility ได้กำหนดแนวทางการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร (Guidance on integrating social responsibility throughout an organization) ไว้ในหมวดที่ 7 ของมาตรฐาน ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถทำความเข้าใจและปรับใช้ได้

ลักษณะของมาตรฐาน ISO 26000 ?

มาตรฐาน ISO 26000 Social Responsibility  เป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Guidance on Social Responsibility) ไม่มีวัตถุประสงค์ หรือไม่มีความเหมาะสมเพื่อนำไปใช้สำหรับการรับรอง (Certification) หรือนำไปใช้เป็นข้อบังคับ (Regulatory) หรือใช้เป็นข้อตกลง (Contractual)

สถานะปัจจุบันของ ISO 26000 ?

มีสถานะเป็น ISO/DIS 26000 : Social Responsibility (Draft International Standard) เมื่อ 4 กันยายน 2552 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นมาตรฐานสากล(International Standard) ได้ภายในปี 2553

CSR กับ ISO 26000 Social Responsibility แตกต่างกันอย่างไร ?

CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นคำที่เป็นที่รู้จัก และมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายมานาน แต่อย่างไรก็ตามนิยามหรือความหมาย ของคำว่าความรับผิดชอบต่อสังคมมีความหลากหลาย และมักสื่อถึงการบริจาค (philanthropy) การอาสาสมัคร (Volunteer) หรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น องค์กรนานาชาติว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization : ISO) จึงได้พัฒนามาตรฐาน ISO 26000 : Social Responsibility ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้การปฏิบัติความรับผิดชอบต่อสังคมดำเนินไปในขอบเขตเดียว กัน ใน 7 หัวข้อหลักคือ

  1. การกำกับดูแลองค์กร (Organization Governance)
  2. สิทธิมนุษยชน (Human Rights)
  3. การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labor Practice)
  4. สิ่งแวดล้อม (Environment)
  5. การปฏิบัติที่เป็นธรรม (Fair Operating)
  6. ประเด็นผู้บริโภค (Consumer Issues)
  7. การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน (Community involvement and Development)

ขั้นตอนในการจัดการกลยุทธ์มีทั้งหมดกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง ?

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอได้มีการจัดหมวดหมู่กระบวนการจัดการกลยุทธ์ (Strategy Management Process) ไว้ทั้งหมด 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย

  1. Strategy Development
  2. Strategy Planning
  3. Strategy Execution
  4. Strategy Evaluation

ซึ่งก็คือหลักการ Plan-Do-Check-Act นั้นเอง เพื่อให้การจัดการกลยุทธ์ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดความอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องดำเนินการอย่างไร ?

การดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพนั้น ควรจะมีหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลกลยุทธ์ อาจเรียกหน่วยงานนั้นว่า OSM (Office of Strategy Management) โดยหน่วยงานราชการบางแห่ง เรียกว่า สำนักนโยบายและแผน ในส่วนของบริษัทเอกชนบางแห่งอาจเรียกว่า Strategic Planning ซึ่งมีหน้าที่หลักในการติดตาม และเฝ้าระวังผลการดำเนินงานด้านกลยุทธ์ขององค์กร

อยากถามว่า PMQA มีความแตกต่างกับ TQA อย่างไร ?

ตามหลักการแล้วทั้งสองรางวัลคุณภาพนี้เป็นรางวัลที่มอบโดยองค์กรของประเทศ ไทย มีพื้นฐานมาจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก สำหรับพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ส่วนข้อแตกต่างของสองรางวัลนี้คือ PMQA (ย่อมาจาก Public Sector Management Quality Award)นั้น เป็นรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ  ซึ่งกำหนดเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถและมาตรฐาน การบริหารจัดการของส่วนราชการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลในระดับโลก ในส่วน TQA (ย่อมาจาก Thailand Quality Award) เป็นรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สำหรับองค์กรที่มีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนใหญ่ภาคเอกชนจะยื่นขอรางวัลนี้

ปัญหาสำคัญในการนำ Balanced Scorecard ไปปฏิบัติ คืออะไร ?

ปัญหาสำคัญในการนำ Balanced Scorecard ไปปฏิบัติ คือ การกระจายกลยุทธ์ไปยังหน่วยงานต่างๆ จนถึงระดับบุคคล และต้อง Align ทั่วทั้งองค์กร รวมทั้งกระตุ้นให้กลยุทธ์เป็นงานของทุกคน เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการทำให้กลยุทธ์ขององค์กรประสบความสำเร็จ

ที่ว่าอบรมกับสถาบัน ฯ สามารถนำค่าลงทะเบียนในการฝึกอบรมไปหักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนร้อยละ 200 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้าฝึกอบรม หมายถึงยังไงคะ ?

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ส่งลูกจ้างของตนเองเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึก อบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับ เสียภาษีได้จำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป เช่น ค่าฝึกอบรม 100 บาท สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุธิได้ 200 บาท ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปตาม พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 437 คะ

ซึ่งถ้าเข้ารับการอบรมกับสถาบันฯ สามารถนำค่าลงทะเบียนในการฝึกอบรมไปหักค่าใช้จ่ายได้นั้น เนื่องจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เข้าข่ายเป็นสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้น คะ

เคยได้ยินคำว่าสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอเป็นสถาบันอิสระของกระทรวงอุตสาหกรรม คำว่า “สถาบันอิสระ” มีความหมายเดียวกับคำว่า “สถาบันเครือข่าย” กระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่ ?

ใช่ แต่ปัจจุบัน นิยมใช้คำว่าสถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรมมากกว่าสถาบันอิสระเพราะจริง ๆ แล้วสถาบันเหล่านี้ ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลในระดับนโยบายจากกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ ของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

ทางสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอให้บริการรับรองอะไรบ้างและมีบริการอื่น ๆ อีกหรือไม่ ?

ระบบการจัดการต่าง ๆ เช่น ISO 9001, ISO 14001, มอก.18001, ISO 45001, GMP, HACCP, ISO 22000, มอก. 22000, มอก. 22300/Security Management System

นอกจากนี้ ยังมีบริการเป็นหน่วยตรวจ (Inspection Body) ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ต่าง ๆ, มาตรฐานผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้านศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่าง ประเทศ, มรท.8001-2546, Q-Mark, QWL, Social Code of Conduct, มาตรฐานอุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยวและข้อกำหนดคุณภาพสำนักงานบัญชี

ส่วนบริการอื่น ๆ ได้แก่ การฝึกอบรมหลักสูตรระบบการจัดการต่าง ๆ หลักสูตรเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทาง ISO 26000 (Social Responsibility) และ Balanced Scorecard (BSC) และยังมีบริการให้คำปรึกษาแนะนำในการนำ BSC ไปใช้ในองค์กรด้วย

ขอทราบชื่อภาษาอังกฤษของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ?

Management System Certification Institute (Thailand)

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอมีบริการเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ ?

สถาบันฯ ไม่รับเป็นที่ปรึกษาระบบการจัดการ แต่เรามีบริการให้คำปรึกษาในการนำ Balanced Scorecard (BSC) ไปใช้ในองค์กรและบริการให้คำปรึกษาในการจัดทำระบบ ISO/IEC 17021-1, ISO/IEC 17065, ISO/IEC 17020, ISO/IEC 17024 และ ISO/IEC 17025 ซึ่งเหมาะสำหรับหน่วยรับรองภาครัฐและเอกชนที่ต้องการพัฒนาระบบหน่วยตรวจสอบและรับรอง เพื่อการขอรับรองระบบงาน (Accreditation)

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ มีสถานะเป็นราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ?

สถาบันฯ ก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการรับรองตามมาตรฐานไอเอสโอและมาตรฐานระบบอื่น ๆ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่มีระเบียบบริหารงานเป็นของสถาบันฯ เอง จึงเรียกกันว่าเป็นสถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับสถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ใบรับรองเดิมจะใช้งานได้ถึงเมื่อไร ?

โดยทั่วไป จะมีช่วงที่เรียกว่า Transition period ที่ให้ระยะเวลาประมาณ 1-3 ปีในการปรับเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานใหม่ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายหรือความซับซ้อนของมาตรฐานที่มีการเปลี่ยนแปลง และเนื่องจากมาตรฐานทั้งสองฉบับดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จึงอาจมีการให้เวลาในการปรับเปลี่ยนมาตรฐาน 2 – 3 ปีซึ่งจะต้องรอประกาศของ ISO และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับลูกค้าของสถาบันฯ สามารถติดตามข่าวสารที่ update ได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันฯ และสามารถติดตามรายละเอียดของเนื้อหาการเปลี่ยนแปลงได้จาก MASCI Innoversity

Scroll Up