ISO 50001 ระบบการจัดการพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ISO 50001 EnMS – Creating A sustainable Future

does-iso-50001-still-live-up

มาตรฐาน ISO 50001 เป็นมาตรฐานที่องค์กรทั่วโลกให้ความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด ดังจำนวนผู้ได้รับการรับรองที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 6,765 รายในปี 2557 เป็น 11,985 รายในปี 2558 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 77%  (จากผลสำรวจขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ปี 2558) อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ได้รับการรับรองในมาตรฐานอื่นๆ นับว่ายังมีปริมาณไม่มากนัก เช่น ในปี 2558 มีองค์กรที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 9001 จำนวน 1,033,936 ราย มาตรฐาน ISO 14001 จำนวน 319,324 ราย มาตรฐาน ISO 22000 จำนวน 32,061 ราย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในด้านประโยชน์ของการนำมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 ไปใช้ ในด้านหนึ่ง มาตรฐานช่วยให้เราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ ซึ่งอาจหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซฯ ที่ปล่อยออกมาจากยานพานหะบนท้องถนนเท่ากับจำนวน 215 ล้านคันภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) และในอีกด้านหนึ่งหมายถึงช่วยในเรื่องธุรกิจขององค์กรต่างๆ ด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าเท่ากับการลดการใช้พลังงานที่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปถึง 600 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน

ดังนั้น หลายประเทศจึงเห็นว่า ISO 50001 เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์สำหรับอนาคตของการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งทำให้มาตรฐานเป็นส่วนหนึ่งที่ผสมผสานไปกับนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งรัฐบาลที่ดำเนินการในเชิงรุก จะใช้มาตรการทางภาษี การเข้าถึงเงินทุนวิจัย และมาตรการทางภาษีอื่นๆ เพื่อกระตุ้นบริษัทให้มีการนำมาตรฐาน ISO 50001ไปใช้มากขึ้น (ในประเทศไทย ภาครัฐโดยบีโอไอก็มีการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเช่นกัน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เว้นภาษีเพิ่ม 3 ปีซึ่งจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม เป็นต้น )

การใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนหรือเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ทำให้การควบคุมค่าใช้จ่ายขององค์การอาจทำได้ไม่ง่ายนัก แต่สิ่งที่องค์กรสามารถทำได้เพื่อลดค่าใช้จ่าย คือ การปรับปรุงวิธีการจัดการด้านพลังงาน ซึ่งประโยชน์ของการนำมาตรฐาน ISO 50001 ไปใช้จะทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดค่าใช้จ่ายและการบริโภคพลังงานในองค์กรลงได้

โรแลนด์ ริสเซอร์ ประธานของคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอ ISO/TC 242 ด้านการจัดการพลังงาน กล่าวในมุมมองของผู้พัฒนามาตรฐานว่า ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของเขา ก็คือ การทำให้มาตรฐานด้านการจัดการพลังงานเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน คือ สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย และตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ในการที่จะทำให้มาตรฐานมีพัฒนาการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือ ต้องทำให้มั่นใจว่ามีการเพิ่มหัวข้อใหม่ๆ ลงไปที่จะช่วยให้ผลลัพธ์ที่ออกมามีประสิทธิภาพและคุ้มค่าอย่างแท้จริง ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นให้องค์กรนำมาตรฐานระบบการจัดการพลังงานของไอเอสโอไปใช้

ในอีกด้านหนึ่ง ริสเซอร์ทำนายว่ามาตรฐาน ISO 50001 ที่กำลังปรับปรุงอยู่นี้ จะเป็นมาตรฐานที่เข้ากันได้ดีกับมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO 14001 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับมาตรฐานทุกมาตรฐานในด้านระบบการจัดการของไอเอสโอ หมายความว่าองค์กรจะใช้เวลาน้อยลงในการโฟกัสไปที่กระบวนการทำงานและการขับเคลื่อนด้วยเครื่องมือด้านมาตรฐานเพราะมีพื้นฐานของระบบที่คล้ายคลึงกันอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า ISO 50001 มีความโดดเด่นกว่ามาตรฐานระบบการจัดการอื่นในแง่ที่ว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้นมีการโฟกัสไปที่ 2 เรื่องคือ ระบบการจัดการด้วยตัวของมันเอง กับสมรรถนะด้านพลังงาน

ท้ายที่สุด สิ่งที่จะทำให้มาตรฐาน ISO 50001 เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง คือการช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุพันธสัญญาที่ให้ไว้ตามข้อตกลงปารีส ในขณะที่มาตรฐานนี้ก็ท้าทายองค์กรให้ค่อยๆ ก้าวไปสู่การประหยัดพลังงานและพัฒนาระบบการจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย

ที่มา: http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2135