จัดซื้ออย่างยั่งยืนด้วยมาตรฐาน ISO 20400

Sustainable_Procurement-for_Sustainable_Business

การดำเนินธุรกิจของบริษัทห้างร้านต่างๆ ย่อมต้องการสร้างคุณค่าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า  อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจสามารถส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป ทำให้โลกของเราต้องมีเป้าหมายในเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ผลักดันให้เกิดขึ้น

โลกของเรายังมีคนมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มลพิษจากสถานีพลังงานถ่านหิน การทับถมของพลาสติกใต้ท้องมหาสมุทรซึ่งทำให้สัตว์น้ำต้องเสียชีวิตลง การตัดไม้ทำลายป่า และการละลายของน้ำแข็งจากขั้วโลกเหนือ เป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลเสียและคุกคามต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอนาคต  และจากรายงานความเสี่ยงระดับโลกของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ปี 2561 ระบุว่าถึงแม้ว่าพื้นฐานด้านเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นจากสัญญาณของการกระตุ้นการเติบโต แต่โลกของเราไม่มีเวลาที่จะมัวแต่ฟังเรื่องของการยกยอปอปั้นกันอีกต่อไปแล้ว  รายงานดังกล่าวได้ทำให้มีความกังวลมากขึ้นในเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจในเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม

ประเด็นดังกล่าวได้รับการยืนยันเช่นกันจากเลขาธิการสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) ชารัน เบอร์โรว์ ซึ่งกล่าวเตือนในที่ประชุมดาวอสเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในเดือนมกราคม ว่ารูปแบบเศรษฐกิจที่มีมาก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของกำลังคนแม้ว่าซีอีโอขององค์กรต่าง ๆ จะมีพันธสัญญาต่อข้อตกลงปารีสแล้วก็ตาม

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 12 เรื่องการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) นั้น การบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องมีกรอบการดำเนินงานระดับประเทศสำหรับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนที่รวมเอาแผนงานระดับภาคส่วนและระดับประเทศ การปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืน และพฤติกรรมผู้บริโภค ให้เข้ากับบรรทัดฐานระดับสากลในเรื่องของการบริหารจัดการสารเคมีอันตรายและของเสีย

พอล โพลแมน ซีอีโอของยูนิลีเวอร์ซึ่งเป็นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลกที่นำเอาเรื่องของความยั่งยืนมารวมเข้ากับกิจกรรมของบริษัท ได้กล่าวในรายงานของหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่า SDGs นำเสนอโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์เราและจะกลายเป็นศูนย์กลางของเป้าหมายธุรกิจและการตัดสินใจด้านการลงทุน เขากล่าวว่าแบรนด์ที่ยั่งยืนของยูนิลีเวอร์กำลังเติบโตขึ้นถึง 30% ซึ่งเร็วกว่าแบรนด์ที่เหลือของบริษัท

สำหรับแม็คโดนัลด์ บริษัทฟ้าสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกัน ได้ประกาศแผนการที่จะลดการใช้หลอดแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมาใช้หลอดกระดาษแทนในระเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งบีบีซีกล่าวว่าแค่ในประเทศสหราชอาณาจักรแห่งเดียว มีการใช้งานถึง 8.5 ล้านหลอดต่อปี

ส่วนเอสเอ็มอีที่มีสายตาหลักแหลมและมองเห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ ก็สามารถนำ SDGs มาใช้เป็นกลยุทธ์องค์กรได้เช่นกันซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและชุมชน และมาตรฐานที่มีบทบาทในกระบวนการดังกล่าวอย่างชัดเจนก็คือมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อ ISO 20400 ซึ่งมีการเชื่อมโยงเข้ากับมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ซึ่งมีการนำเสนอข้อแนะนำเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับ SDGs และอยู่ในหัวข้อหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม 7 เรื่อง ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมและการพัฒนาของชุมชน

บุคคลหนึ่งที่มีประสบการณ์ครั้งแรกในเรื่องนี้คือช้าค ชามม์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเอทูคอนซัลติ้ง ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีที่มีพนักงาน 100 คน ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มีความเชี่ยวชาญในด้านการปรับเปลี่ยนองค์กร ชามม์ได้เข้าไปทำงานโครงการของไอเอสโอเป็นเวลา 4 ปีซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นความพยายามครั้งใหญ่สำหรับองค์กรเล็กๆ อย่างเอทูคอนซัลติ้ง  ซึ่งค่อนข้างกระตือรือร้นในการส่งเสริมมาตรฐานใหม่ในตลาดฝรั่งเศสและได้สร้างมาตรวัดตามมาตรฐาน ISO 20400 เพื่อวัดวิธีการที่องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนปฏิบัติทุกปี รวมทั้งวิธีการประยุกต์ใช้แนวทางมาตรฐานและผลกระทบของความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีต่อสังคม

เขายังได้อธิบายต่อไปว่า ISO 20400 มีความเชื่อมโยงกับ ISO 26000 และ SDG 12 ด้วยเหตุนี้เอง มาตรฐานจึงให้การสนับสนุนและการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของคณะทำงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP)

สำหรับประโยชน์ของมาตรฐาน ISO 20400, Sustainable procurement – Guidance เป็นการนำไปใช้งานเฉพาะภาคส่วนของมาตรฐาน 26000 ซึ่งระบุหลักการของพฤติกรรมเชิงจริยธรรมตลอดทั้งซัพพลายเชน ซึ่งมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยของซัพพลายเชน เช่น การเรียกกลับผลิตภัณฑ์หรือความล้มเหลวของซัพพลายเออร์
  • ป้องกันความเสี่ยงด้านการเงิน สิ่งแวดล้อม และชื่อเสียง
  • สนับสนุนความมั่นใจของลูกค้าและนักลงทุน
  • มีส่วนร่วมการเปิดตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการ

ISO 20400 ทำให้องค์กรมีโครงสร้างของการจัดซื้ออย่างยั่งยืน สามารถแปลงนโยบายไปสู่ภาษาที่ซัพพลายเชนสามารถตอบสนองได้ เพราะมาตรฐานนี้มีการจัดเตรียมกรอบแนวทางที่มีการเชื่อมโยงเป้าหมายขององค์กรและทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการจัดซื้ออย่างยั่งยืนได้

ภารกิจขององค์กรทั่วโลกทั้งภาครัฐและเอกชน คือ การเข้าร่วมปฏิบัติการด้านความยั่งยืนโดยการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนผ่านการปฏิบัติ เช่น การนำ ISO 20400 มาตรฐาน การจัดซื้ออย่างยั่งยืน ไปใช้งาน เพื่อร่วมกันผลักดันให้โลกของเราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเร็วต่อไป

ที่มา : https://www.iso.org/news/ref2322.html