องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจ ISO 26000 ตอนที่ 1

the-rise-of-being-social

NEC Corporation เป็นบริษัทที่นำเอามาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้อย่างสมัครใจ ซึ่งได้ช่วยให้องค์กรนับพันสามารถปฏิบัติงานด้วยการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบ

นับตั้งแต่เมื่อมีการตีพิมพ์เผยแพร่มาตรฐานฉบับนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว  มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกรับ ISO 26000 ไปใช้เป็นมาตรฐานระดับประเทศมากกว่า 80 ประเทศ และในภาษาต่างๆ 22 ภาษา และยังมีการนำไปใช้อ้างอิงในตำราของสถานศึกษากว่า 3,000 ฉบับ รวมทั้งหนังสือและเอกสารต่างๆ ก็นำไปใช้อ้างอิงด้วย องค์กรที่นำมาตรฐานนี้ไปใช้ก็มีทั้งองค์กรขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมทั้งบริษัทที่มีชื่อเสียง อย่างเปโทรบราส สายการบินฝรั่งเศส บริติชเทเลคอม โนโวนอร์ดิสค์ และมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ เป็นต้น

หลายองค์กรได้ให้ความใส่ใจในการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมก่อนที่จะมีมาตรฐาน ISO 26000 เกิดขึ้น แต่เมื่อมีมาตรฐานแล้วก็ยิ่งช่วยส่งเสริมให้มีแนวคิดในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ว่าเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความก้าวหน้าในทุกๆ ด้านของความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งนับเป็นฐานรากของกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบทางสังคมด้วย

ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งไอเอสโอในปี 2490 (ค.ศ.1947) ผู้ผลิตนับเป็นผู้ใช้มาตรฐานของไอเอสโอเป็นส่วนใหญ่ และนั่นก็คืองานหลักของไอเอสโอ แต่ในช่วงเวลาต่อมา ไอเอสโอเริ่มให้ความสนใจกับความต้องการของผู้บริโภค หลักๆ ก็คือผู้บริโภคเป็นเสียงสะท้อนความต้องการในเรื่องข้อกำหนดซึ่งไอเอสโอจำเป็นต้องนำมาพิจารณาด้วย ดังนั้น ไอเอสโอจึงแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายผู้บริโภค (ISO Committee on Consumer Policy: COPOLCO) ในปี 2521 (ค.ศ.1978) เพื่อกระตุ้นส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในกระบวนการด้านการมาตรฐาน

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประสบการณ์ของผู้บริโภคจึงกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการมาตรฐาน และแม้ว่าการจัดลำดับความสำคัญของคณะกรรมการนโยบายผู้บริโภคของไอเอสโอจะยังคงมีพื้นฐานอยู่ในเรื่องของผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เช่น จักรยาน หรือน้ำยาล้างจาน แต่พอถึงช่วงปี 1990 – 1999 ไอเอสโอยังได้ขยายมุมมองออกไปยังประเด็นในเชิงสังคมมากขึ้น เช่น การบริการ ความสามารถในการเข้าถึง และความปลอดภัย ซึ่งในช่วงนั้น มาตรฐานและแนวทางในด้านมุมมองต่างๆ อย่างเช่น สังคมผู้สูงวัยก็เริ่มมีเข้ามามากขึ้น พร้อมกับเอกสารเช่น ประกาศนโยบายของ ISO/IEC ที่มุ่งเน้นความจำเป็นของผู้สูงวัยและบุคคลที่ไร้ความสามารถลงไปในงานด้านการมาตรฐาน ซึ่งมีการเผยแพร่ในปี 2544 (ค.ศ.2001)

ดานา คิสซิงเจอร์-มาเทรย์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายผู้บริโภคของไอเอสโอ กล่าวว่า COPOLCO จะคอยฟังอยู่เสมอว่าผู้บริโภคต้องการอะไรและอะไรที่จำเป็นสำหรับงานมาตรฐาน การปฏิรูปของไอเอสโอในเรื่องมาตรฐานที่เน้นในด้านสังคม เป็นความคาดหวังในวงกว้างของสังคมที่ต้องนำมาพิจารณา และมีการขยายขอบข่ายไปมากกว่าข้อกำหนดเฉพาะ (Specification) สำหรับผลิตภัณฑ์และองค์ประกอบ และยังประจวบเหมาะพอดีกับช่วงเวลานั้นซึ่งผู้บริโภคเองก็มีอิทธิพลต่อข้อกำหนดของตลาดด้วย

ดังนั้น ในปี 2545 (2002) คณะกรรมการนโยบายผู้บริโภคของไอเอสโอ จึงแนะนำให้พัฒนามาตรฐานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ก่อนที่จะมีคณะกรรมการบริหารทางวิชาการของไอเอสโอ (ISO Technical Management Board: TMB) เกิดขึ้น ซึ่งหน้าที่สำคัญที่ได้ก็ปรากฏชัดเจนอยู่ในประกาศครั้งแรกของคณะกรรมการฯ ที่ว่ามาตรฐานควรช่วยให้องค์กรเน้นในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆ กับการเคารพในเรื่องของความแตกต่างทางกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งเงื่อนไขในการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย

ในช่วงนั้น คำว่าความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยมาก และความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ให้กับองค์กรที่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านความยั่งยืน และเมื่อมีการนำข้อเสนอเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางสังคมมาพิจารณาในสมาชิกของไอเอสโอ ก็มีข้อโต้แย้งว่าทำไมจึงให้ความสำคัญแค่ในระดับองค์กร ดังนั้น คำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” จึงกลายเป็นคำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (social responsibility)

สำหรับความสำเร็จของมาตรฐาน ISO 26000 ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องและไอเอสโอยังได้พัฒนามาตรฐานบางฉบับขึ้นมาซึ่งส่งเสริมเรื่องความรับผิดชอบทางสังคมด้วย จะเป็นมาตรฐานอะไรบ้างนั้น โปรดติดตามต่อในครั้งหน้าซึ่งเป็นตอนจบค่ะ

 ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2204.html