องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจ ISO 26000 ตอนที่ 2

the-rise-of-being-social-2

บทความเรื่อง องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจ ISO 26000 ตอนที่ 1 ได้กล่าวว่าหลายองค์กรได้ให้ความใส่ใจในการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมก่อนที่จะมีมาตรฐาน ISO 26000 เกิดขึ้น แต่เมื่อมีมาตรฐานแล้วก็ยิ่งช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจและองค์กรต่างๆ มีแนวคิดในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้นและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางซึ่งไอเอสโอยังได้พัฒนามาตรฐานบางฉบับขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบทางสังคมอีกด้วย  แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงมาตรฐานฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง เรามาฟังความเป็นมาของมาตรฐาน ISO 26000 กันก่อน

เมื่อปี 2548 (ค.ศ.2005) กลุ่มงานของไอเสอโอได้ร่วมกันเป็นผู้นำในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม และใช้เวลา 5 ปีในการพัฒนาและประชุมระหว่างประเทศจำนวน 8 ครั้ง นับตั้งแต่ประเทศออสเตรเลียไปจนถึงประเทศชิลีและประเทศไทย มีการพิจารณาข้อคิดเห็นมากกว่า 25,000 เรื่องที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 450 คนซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศต่างๆ จำนวน 99 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศจากทั่วโลกกว่า 40 แห่งรวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นผู้แทนจาก Global Reporting Initiative องค์กรผู้บริโภคสากลและข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ

การสร้างมาตรฐาน ISO 26000 เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าประทับใจมากที่สุดประการหนึ่งของการสร้างความเห็นพ้องต้องกันให้เกิดขึ้นด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เต็มใจให้เวลา ข้อคิดเห็นและทุ่มเทแรงกายแรงใจไปเพื่อช่วยกันพิจารณา เจรจา อภิปรายและพัฒนามาตรฐานจนกระทั่งสามารถนำมาใช้งานได้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน การตัดสินใจทั้งหมดเกิดขึ้นจากความยินยอมร่วมกันของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและให้ความสำคัญไปกับการมีส่วนร่วมอย่างสมดุลของประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งผู้แทนจากสหภาพยุโรปซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย

หลังจากที่มาตรฐาน ISO 26000 ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ สหภาพยุโรปก็ได้ประกาศเรื่องการสื่อสาร CSR แบบใหม่ซึ่งระบุว่า CSR เป็นความรับผิดชอบของธุรกิจในเรื่องผลกระทบต่อสังคม ซึ่งคล้ายคลึงกับนิยามในมาตรฐาน ISO 26000 และใช้ในการกำหนดแนวทางและหลักการในการสร้างกลยุทธ์ด้วย

7 ปีต่อมา มาตรฐาน ISO 26000 ได้ช่วยให้องค์กรนับพันทำการปรับปรุงกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ เช่น  NEC Corporation ซึ่งได้วางนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมไว้  คุณฮิโตชิ ซูซูกิ อดีตผู้จัดการทั่วไปด้าน CSR ของ NEC และปัจจุบันเป็นประธาน Think Tank IISE ของ NEC ที่ทำการวิจัยในประเด็นความสามารถในการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ได้กล่าวว่า เมื่อได้เข้าไปจัดการในเรื่องซัพพลายเชนและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาตรฐาน ISO 26000 จึงเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นไปอีก

กล่าวคือ มาตรฐานดังกล่าวทำให้บริษัทรู้จักซัพพลายเออร์ดีขึ้น สามารถเห็นว่าพวกเขาทำงานอย่างไรและทำให้สามารถระบุว่าควรปรับปรุงในจุดไหนและอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการทำงานที่มีเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยด้วย ดังนั้น จึงได้สร้างมาตรการเชิงป้องกันและทำงานร่วมกันซึ่งทำให้เห็นถึงวิธีที่บริษัทและซัพพลายเออร์จะสามารถนำวิธีการบริหารจัดการเหล่านั้นไปปรับใช้งาน

มาร์คแอนด์สเปนเซอร์เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผู้บุกเบิกที่มีความโดดเด่นในด้านความสามารถในการดำเนินงานอย่างยั่งยืนด้วยการนำแผน A ไปใช้เมื่อปี 2550 (ค.ศ.2007) เพื่อช่วยปกป้องโลกด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ ลดของเสียและช่วยเหลือชุมชน แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากซัพพลายเออร์ ดังนั้น เมื่อปี 2556 (ค.ศ.2013) บริษัทจึงหันมาใช้ ISO 26000 เป็นแนวทางในการส่งเสริมวิธีปฏิบัติที่เป็นธรรมตลอดทั้งซัพพลายเชน

มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ใน 70 ประเทศที่มีการจ้างงานทั่วโลกถึงสองล้านคนซึ่งอยู่ในโรงงานสองหมื่นโรงและในฟาร์มอีกสองหมื่นแห่ง ดังนั้น โครงการต่างๆ จึงมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านค้าปลีกของบริษัทซึ่งมีบางแห่งก็เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศอินเย ศรีลังกา และบังคลาเทศ ซึ่งได้รับการเชื้อเชิญให้นำหลักการของ ISO 26000 ในด้านความรับผิดชอบของสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปรวมอยู่ในกลยุทธ์ของธุรกิจ

เมื่อวันที่ 25 กันยายน  2558 (ค.ศ.2015) สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับเอาเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 หัวข้อขององค์การสหประชาติไปดำเนินการเป็น “วาระการพัฒนา 2030” ซึ่งกำหนดเป้าหมายที่สร้างแรงบันดาลใจในการยุติความหิวโหย การปกป้องโลก และการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับทุกคนในโลกนี้ และแรงบันดาลใจนี้ก็สะท้อนอยู่ในมาตรฐาน ISO 2600 ซึ่งมีหลักการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและมีส่วนร่วมโดยตรงต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วย

ในช่วง 7 ปีที่มาตรฐาน ISO 26000 ได้เกิดขึ้นมานั้น ยังพิสูจน์ให้เห็นว่ามาตรฐานนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังมาตรฐานอื่นๆ อีกหลายมาตรฐาน เช่น ISO 37001 มาตรฐานระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบน ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของความซื่อสัตย์และความโปร่งใสในองค์กร มาตรฐาน ISO 20400 แนวทางการจัดซื้ออย่างยั่งยืนซึ่งใช้มาตรฐาน ISO 26000 มาอ้างอิงอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งข้อตกลงการประชุมเชิงปฏิบัติการในระดับระหว่างประเทศ IWA 26 ซึ่งมีเป้าหมายในการช่วยให้องค์กรรวมเอาหลักการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับมาตรฐานระบบการจัดการอื่นๆ ของไอเอสโอ

ในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา มาตรฐาน ISO 26000 ได้ให้แนวคิดที่มีการคิดร่วมกันมากขึ้นอย่างเช่นเอกสาร ISO Guide 82 – Guidelines for addressing sustainability in standards ซึ่งเป็นแนวทางในการช่วยใช้ให้ผู้เขียนมาตรฐานสามารถเน้นในประเด็นด้านความสามารถในการดำเนินงานอย่างยั่งยืนอันเป็นการยกระดับความตระหนักในเรื่องนี้เพื่อให้มีการนำไปใช้งานในมาตรฐานไอเอสโออย่างเป็นระบบและมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบข่ายของมาตรฐานที่ทำการพัฒนา

มาตรฐาน ISO 26000 จึงเป็นมาตรฐานที่ธุรกิจและองค์กรควรนำไปใช้ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมเท่านั้น  แต่ยังเป็นมาตรฐานที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่มีความโปร่งใสอันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

 ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2204.html