สรอ. ร่วมกับ สมอ. เสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม เป็นเอกสาร ISO

group9999

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ได้ริเริ่มจัดทำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมในปี 2554 และได้นำเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ สรอ. เป็นหน่วยร่วมดำเนินการในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และประกาศเป็นมอก. 9999 เล่ม 1-2556 ซึ่งประเทศไทย โดย สมอ. ได้เสนอ มอก. 9999 เล่ม 1-2556 เป็นเอกสาร ISO ภายใต้คณะกรรมการวิชาการของ ISO คณะที่ 292 Security and Resilience (ISO/TC 292) และข้อเสนอของไทยในขั้นตอน Preliminary Work Item (PWI) ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกใน ISO/TC 292 เป็นส่วนใหญ่ โดย สมอ. ได้จัดตั้งโครงการในการนำเสนอมอก. 9999 เล่ม 1-2556 เป็นเอกสาร ISO มี สมอ. (นายเอกนิติ รมยานนท์) เป็นหัวหน้าโครงการ (Project Leader) และ สรอ. (ดร. ชวาธิป จินดาวิจักษณ์ และนายสำราญ สอนผึ้ง) ร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งประเทศไทยได้รับโอกาสในการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอของไทย การเสนอแผนงาน รวมทั้งการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเสนอชื่อจากประเทศอื่นๆ ในการประชุม ISO/TC 292 ในวันที่ 8-12 ตุลาคม 2561 ณ เมืองสตาร์วังเงร์ (Stavanger) ประเทศนอร์เวย์

ในการประชุมคณะทำงานคณะที่ 2 ของ ISO/TC 292 (WG2 Conformity & Organizational Resilience) ประเทศไทยได้เสนอ PWI โดยนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเป็นเอกสาร ISO และได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับชื่อเอกสาร/มาตรฐาน ISO ที่จะจัดทำ คือ Principles and Guidelines for Sufficiency and Viability โดยจะมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวีเดน อังกฤษ อินเดีย สวิสเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ เป็นต้น

สรอ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการนำมาตรฐาน มอก. 9999 ไปใช้ในสถานประกอบการเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 โดยปีแรก สรอ. ร่วมกับผู้ประกอบการ 10 ราย ใช้งบประมาณดำเนินการ ของ สรอ. ร่วมกับผู้ประกอบการ ต่อมาได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการการนำ มอก. 9999 สู่ภาคปฏิบัติ ระหว่าง อก. สมอ. และ สรอ. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 และได้ดำเนินการร่วมกันต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งการเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจและการดำเนินโครงการ ซึ่งการดำเนินโครงการตั้งแต่ ปี 2558 สรอ. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สมอ. โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประกาศนียบัตรจาก อก. สมอ. และ สรอ. ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว รวมสถานประกอบการที่มีการนำ มอก. 9999 ไปปฏิบัติมากกว่า 70 ราย นอกจากนี้ สรอ. ได้ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ มอก. 9999 อาทิ การบริการข้อมูลองค์ความรู้ การฝึกอบรม การทวนสอบ การเป็นพี่เลี้ยงในการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานประกอบการเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ALL-3-1